บอกลาอาการ Home Office Syndrome
5 มีนาคม 2564
โพสต์โดย Admin

การนั่งทำงานนานๆ ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย อาจนำไปสู่โรคออฟฟิสซินโดรม
ในช่วงนี้หลายๆคน ยังได้ Work from home กันอยู่ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิท-19 แต่ไม่ว่าจะทำงานที่บ้านหรือที่ออฟฟิสก็อย่าลืมดูแลสุขภาพตนเอง เพราะการนั่งติดโต๊ะและมองคอมพิวเตอร์นานๆ จะส่งผลให้เราเป็นโรคออฟฟิสซินโดรมได้เช่นกัน
ออฟฟิสซินโดรม คือ อาการปวดกล้ามเนื้ออันเนื่องมาจากรูปแบบการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง เช่น การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานเกินไปโดยไม่ขยับ ซึ่งอาจลุกลามจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง รวมไปถึงอาการชาที่บริเวณแขนหรือมือจากการที่เส้นประสาทส่วนปลายถูกกดทับอย่างต่อเนื่อง
อาการของออฟฟิสซินโดรม
- ปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น คอ บ่า ไหล่ สะบัก มักมีอาการปวดเป็นบริเวณกว้าง ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน หรืออาจมีอาการปวดร้าวไปบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย ความรุนแรงมีได้ตั้งแต่ปวดเล็กน้อย จนถึงปวดรุนแรงทรมานอย่างมาก
- อาการของระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งพบร่วมได้ เช่น ชา วูบ เหน็บ ซีด ขนลุก เหงื่อออก ตามบริเวณที่ปวดร้าว ถ้าเป็นบริเวณคอ อาจมีอาการมึนงง หูอื้อ ตาพร่า
- อาการทางระบบประสาทที่ถูกกดทับ เช่น ชาบริเวณแขนและมือ
การป้องกันการเกิดออฟฟิสซินโดรม
- สร้างบรรยากาศมุมทำงาน เช่น ปรับระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้อยู่ในท่าที่สบาย ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา
- ขยับร่างกายและการใช้กล้ามเนื้อให้เหมาะสม เช่น ในระหว่างการทำงานควรมีการยืดเหยียดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้ออย่างน้อยทุกๆ 1 ชั่วโมง
- ปรับท่านั่งให้ถูกวิธี ควรนั่งหลังตรง เข่าทำมุม 90 องศาขนานกับพื้น ขาไม่ลอยจากพื้น หลีกเลี่ยงการนั่งไขว้ขาหรือนั่งไม่เต็มก้น
- พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุกๆ 30 นาที ด้วยการหลับตาหรือมองอย่างอื่นที่ไม่ใช่จอคอมพิวเตอร์ประมาณ 1-2 นาที
- ออกกำลังกายเพื่อให้เลือดในร่างกายหมุนเวียนได้ดีขึ้น และเป็นการยืดและเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้นด้วย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อปรับสมดุลในร่างกาย
ที่มา https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/696
https://www.greenery.org/articles/infographic-homeofficesyndrome/
ภาพประกอบ: Business photo created by freepik - www.freepik.com