รู้จักระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

10 มิถุนายน 2564

โพสต์โดย Admin


โอกาสใหม่ของธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

ทำไมต้องเศรษฐกิจหมุนเวียน

ทุกวันนี้ โลกกำลังเผชิญปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งสภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ขยะล้นโลก โดยเฉพาะขยะพลาสติกในท้องทะเล เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไข

 

เศรษฐกิจหมุนเวียนคืออะไร

เดิมที เศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) คือการนำทรัพยากรมาผลิตสินค้า และเมื่อเลิกใช้แล้วจะถูกทิ้งไม่นำกลับมาใช้อีก เศรษฐกิจแบบเส้นตรงจึงส่งผลกระทบต่อโลก โลกจึงต้องเปลี่ยนแปลง

 

หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย วัตถุดิบ สินค้าที่หมดอายุ และพลังงาน ให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม เน้นให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ ทั้งวัตถุดิบ พลังงาน และของเสีย ให้สามารถนำกลับไปใช้หมุนเวียนอยู่ในระบบได้ยาวนานที่สุด หรือจนหมดอายุการใช้งานที่แท้จริง

 

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงไม่ได้เป็นเพียงการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเริ่มต้นจากการออกแบบที่ทำให้กระบวนการผลิตประหยัดทรัพยากรให้มากที่สุด ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานได้คุ้มค่าที่สุด หรือทำให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ให้มากที่สุด โดยต้องอาศัยการคัดแยกจัดเก็บอย่างเป็นระบบจากผู้ใช้งาน แต่หากไม่สามารถนำมาใช้ต่อในรูปแบบเดิมได้ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงต่อไปได้

 

หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นแนวทางธุรกิจใหม่โดยพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างตลาด ลูกค้า และทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ รวมถึงใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ (Disruptive Technologies) ในการเปลี่ยนระบบผลิตทางตรงจาก Make > Use > Dispose ไปสู่ระบบผลิตแบบหมุนเวียน คือ Make > Use > Return

 

เป้าหมายและแนวทางของหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงเป็นการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรใหม่น้อยที่สุด โดยการสร้างระบบการผลิตใหม่ (Re-process) ผ่านการออกแบบใหม่ (Re-design) การสร้างคุณค่าใหม่ (Added value) การสร้างนวัตกรรมใหม่ (Innovation) การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) เพิ่มขึ้น ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และการใช้ซ้ำ (Reuse) ถือเป็นการสร้างคุณค่าที่ดีขึ้นและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม รวมถึงธุรกิจอีกด้วย

 

แนวทางปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

1. การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) เพื่อให้มีความทนทาน และมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น เอื้อต่อการแยกชิ้นส่วนเพื่อรีไซเคิล หรือใช้ซ้ำ หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรน้อยลงแต่คุณภาพยังคงเดิม

 

2. การจัดหาทรัพยากร (Resource Input) การใช้วัตถุดิบที่ได้จากการรีไซเคิลและการใช้ซ้ำ หรือการเลือกใช้ทรัพยากรที่มาจาก Renewable Resources ในการผลิตสินค้า และการใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต

 

3. การผลิต (Manufacturing) โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ (Autonomation) เพื่อเพิ่มความแม่นยำในกระบวนการผลิต ซึ่งส่งผลให้ของเสียจากกระบวนการผลิต การใช้น้ำและพลังงานลดลง

 

4. การขาย การตลาด และการขนส่ง (Sale and Distribution) ส่งเสริมระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ระบบการเช่าสินค้า (Leasing) และ Sharing Platform เพื่อให้การขายและขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลรวบรวมข้อมูลเพื่อให้เกิดการ Optimization ในขั้นตอนการขายและขนส่ง

 

5. การใช้งานผลิตภัณฑ์ (Product Use) จากการออกแบบที่ทนทานมากขึ้น และง่ายต่อการแยกชิ้นส่วน พร้อมด้วยการบริการซ่อมบำรุง ทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์เกิดประสิทธิภาพยาวนานมากที่สุดตลอดช่วงอายุการใช้งาน

 

6. การกำจัด (Recovery) ผลิตภัณฑ์ที่สิ้นอายุจะผ่านกระบวนการจัดการที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งของเสียไปยังหลุมฝังหลบ เกิดการหมุนเวียนวัตถุดิบจากผลิตภัณฑ์ที่สิ้นอายุให้อยู่ในวงจรการผลิตและบริโภคให้นานที่สุด โดยประยุกต์ใช้กระบวนการนำกลับต่างๆ เช่น การใช้ซ้ำ การรีไซเคิล การนำกลับพลังงานจากขยะ

 


ที่มา: https://www.scg.com/sustainability/circular-economy/scg-circular-way/

https://www.allaroundplastics.com/article/sustainability/2370